Special Articles : AEC
ถ้าจะถามว่า “ผนังขอบลาด (Tapered Wall) คืออะไร?” ทางผู้เขียนจะขอเล่าให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ ก็คือ ผนังที่มีพื้นผิวด้านหนึ่งตั้งตรง ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้นขอบล่างของพื้นผิวผนังจะเอียงสอบออกไป ส่งผลให้หน้าตัดของผนังชนิดนี้มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งผู้อ่านอาจนึกถึงลักษณะของผนังกันดิน ที่ส่วนฐานหรือขอบล่างของผนังมีขนาดกว้างกว่าส่วนขอบบนของผนัง เป็นต้น
วิธีเดิมที่เราใช้แก้ปัญหา
แต่เดิมเมื่อเราต้องการสร้างโมเดลผนังกันดิน หรือผนังที่มีส่วนฐานใหญ่กว่าส่วนขอบบน วิธีที่มักจะนึกออกและใช้งานกันเป็นประจำ คือ การสร้าง Model In-Place ขึ้นภายในโปรเจกต์ โดยกำหนดหมวดหมู่ (Category) ของ Family เป็น Walls หรือผนัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงานค่อนข้างมาก เพราะต้องทำแบบชิ้นต่อชิ้น และหากมีการแก้ไขวัสดุ รูปทรง หรือขนาด ก็ต้องมาไล่ปรับแก้กันไปทีละชิ้น ทีละชิ้นแบบนี้
ความเปลี่ยนแปลงใน Revit 2022 นี้
ในเวอร์ชั่นใหม่ของ Revit 2022 นี้ ที่มาพร้อมกับคำสั่ง Tapered Wall ให้เราทุกคนสร้างผนังขอบลาด หรือผนังกันดินแบบง่าย ๆ ได้เพียงแค่ตั้งค่าจาก Basic Wall ที่มีอยู่เดิม แต่ก่อนที่จะไปใช้งานได้นั้น ยังมีการตั้งค่าอีกเล็กน้อยครับ ที่เราต้องไปปรับให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้คำสั่ง Tapered Wall สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ
การตั้งค่าที่ว่านี้ก็คือ การตั้งค่าให้เลเยอร์โครงสร้างหลักของผนัง ที่เรียกว่า “Core Layer” สามารถปรับเปลี่ยนความหนาได้อย่างอิสระจากค่าความหนาที่กำหนดไว้ในเลเยอร์นั้น ๆ โดยเริ่มต้นเราจะไป Edit Type ที่ตัว Family ผนัง Basic Wall ที่ต้องการใช้งานเป็น Tapered Wall กันก่อน แล้วคลิกปุ่ม “Edit...” ในบรรทัด Structure หลังจากเข้าไปในหน้าการตั้งค่าเลเยอร์ผนังแล้ว ให้ผู้ใช้งานเลือกที่ตัวเลือก Variable เพื่ออนุญาตให้เลเยอร์โครงสร้างหลักของผนัง (Core Layer) เปลี่ยนแปลงความหนาได้ ในขั้นตอนนี้หากผนังของผู้ใช้งานท่านใด มีเลเยอร์ผนังที่อยู่ในขอบเขตของ Core Boundary มากกว่า 1 เลเยอร์ ให้คลิกตัวเลือก Variable ที่เลเยอร์ของโครงสร้างผนังตัวที่หนาที่สุดเพียงตัวเดียวก็เพียงพอแล้ว
เมื่อทำการตั้งค่าเลเยอร์โครงสร้างหลักผนัง (Core Layer) ให้เป็น Variable แล้ว ขั้นตอนต่อไป เราจะพาไปตั้งค่าในส่วน Properties เพื่อให้ผนังดังกล่าวมีลักษณะขอบลาด ด้วยการเลือกตัวเลือก Tapered ในบรรทัด Cross-Section หรือหน้าตัดผนัง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าแยกแต่ละผนังตามต้องการได้เลย
สิ่งที่ควบคู่กันกับการเลือกตัวเลือก Tapered คือ ผู้ใช้งานต้องทำเครื่องหมายถูกหน้าตัวเลือก Override Type Properties ด้วย เราจึงจะสามารถพิมพ์ใส่ค่าตัวเลของศาของพื้นผิวในแต่ละด้านของผนังได้
โดยการใส่ค่าองศาความลาดเอียงให้กับพื้นผิวของผนังนั้น เราสามารถระบุค่าได้ทั้งสองด้าน คือ พื้นผิวด้านภายนอก (Exterior) และพื้นผิวด้านภายใน (Interior) เมื่อใส่ค่าองศาลงไป จะส่งผลให้ขอบล่างของพื้นผิวผนังด้านนั้นเอียงสอบขยายออกมา
การระบุค่าตัวเลข จะใส่พร้อมกันทั้งด้านภายนอกและภายในก็สามารถทำได้เช่นกัน รวมไปถึงการใส่ค่าตัวเลขที่ติดลบด้วย ซึ่งจะทำให้ขอบล่างของผนังเอียงสอบกลับเข้ามาในด้านแนวกึ่งกลางของผนังแทน
บทสรุป
ข้อดี : ผนังขอบลาด Tapered Wall สร้างได้จาก Basic Wall ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปสร้าง Model In-Place ให้เสียเวลาเหมือนแต่ก่อน
ข้อควรระวัง : การใช้งาน Tapered Wall ในผนังอาคารด้านที่มีประตู-หน้าต่าง อาจต้องระวังเรื่องระยะการติดตั้งชุดประตู-หน้าต่างที่อาจหลุดออกมาจากแนวของผนังได้ดังภาพ
หากนับตั้งแต่ที่ Autodesk พัฒนา Feature ผนังเอียง (Slanted Wall) ออกมาในช่วง Revit 2021 แล้ว สำหรับผนังขอบลาด (Tapered Wall) ใน Revit 2022 ที่ตามกันออกมาในปีล่าสุดนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของโปรแกรม Revit ที่มาช่วยส่งเสริมให้ Family ผนังอย่าง Basic Wall พัฒนาก้าวไปอีกขั้น เพื่อตอบสนองต่อการทำงานของผู้ใช้งานที่มีความหลากหลายในแวดวงการก่อสร้าง ส่งผลให้เราทุกคนสร้าง BIM Model ได้อย่างราบรื่น ด้วยเวลาที่น้อยลง และผลิตงานออกสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองครับ
สุดท้ายนี้ ทุกท่านสามารถติดตามบทความดีๆ มีประโยชน์แบบนี้ ได้ทางเว็บไซต์ของ Synergysoft.co.th
หรือหากท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเราได้ที่ช่องทางอีเมล
รวมถึงอัปเดทคอร์สอบรมวิธีการใช้งาน Revit ล่าสุดได้ที่หน้าเว็บไซต์ http://synergysoft.co.th/educenter/
ซินเนอร์จี้ซอฟต์ ตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์อย่างเป็นทางการและถูกต้องในประเทศไทยของออโตเดสก์ สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สามารถสอบถามได้ทางเจ้าหน้าที่ซินเนอร์จี้ซอฟต์ที่
การถอดปริมาณสิ่งก่อสร้างจากโมเดลก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติเด่นของ Autodesk Revit ที่มาส่งเสริมให้การทำงานในกระบวนการ BIM ให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งสามารถสร้างได้ด้วยคำสั่ง Schedule/Quantities ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกหมวดหมู่ที่ต้องการทราบข้อมูล แล้วจึงเลือกพารามิเตอร์ซึ่งจะดึงข้อมูลจริงจากโมเดลมาแสดงผลในตารางแบบ Real Time ดังนั้นเมื่อเราต้องการนำข้อมูลออกไปใช้งานต่อยังโปรแกรมอื่น ๆ จึงต้องมีการส่งออก (Export) ไฟล์ โดยสิ่งที่มีการปรับปรุงใหม่ใน Revit 2022 นี้ ทำให้เราทุกคนสามารถเชื่อมต่อการทำงานได้อย่างราบรื่นขึ้นอีกขั้น ซึ่งจะต่างไปจากเดิมขนาดไหนนั้น ติดตามได้ในหัวข้อนี้กันครับ
AEC ย่อมาจาก Autodesk architecture, engineering & construction คือชุดเครื่องมือสำหรับการออกแบบ-เขียนแบบ ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม งานก่อสร้าง จนไปถึงการตรวจสอบอาคาร ที่ถูกพัฒนาจากค่าย Autodesk โดยชุด AEC ได้รวบรวม Software หลักที่จำเป็นต่อผู้ทำงาน BIM รวมไว้เป็นชุดเดียวกัน อย่างครบวงจร เช่น Autodesk Revit, Auto CAD, Navisworks Manage หรือ 3ds Max เป็นต้น
จะเป็นอย่างไร? หากเส้นกริดไลน์ (Grid Line) ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในแปลน รูปด้าน หรือมุมมอง 2 มิติอื่นๆ อีกต่อไป เพราะใน Revit 2022 เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดในปีนี้ ได้พัฒนารูปแบบการทำงานของกริดไลน์ให้สามารถแสดงผลในมุมมอง 3 มิติได้แล้ว เมื่อได้ยินกันแบบนี้ เหล่าผู้อ่านทุกท่านก็คงรู้สึกตื่นเต้นกันไม่น้อยทีเดียวเลยใช่มั้ยล่ะครับ ทางผู้เขียนเองก็เช่นกัน แต่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน ใช้งานอย่างไรได้บ้างนั้น มาติดตามไปพร้อมกันในหัวข้อนี้ได้เลยครับ
Autodesk Tandem คือ Platform ในรูปแบบของ Digital Twin ที่จะเข้ามาช่วยจัดระเบียบและกำหนดข้อมูลจากการออกแบบ รวมไปถึงข้อมูลจากการจำลอง Simulation ของอาคารโดยเป็นการดำเนินการควบคู่กันไปกับการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในงานก่อสร้างรวมไปถึงข้อมูลรายละเอียดเชิงลึก เช่น วันที่ติดตั้งอุปกรณ์, ข้อมูลของ Supplier, ID number ของอุปกรณ์, รวมไปถึงข้อมูลการ Maintenance อุปกรณ์ต่างๆ
วิธีสร้างเบอร์ปากกาจากน้ำหนักเส้น (Lineweight) ของ Revit ให้ใช้งานได้ใน AutoCAD นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แบบที่ส่งออกไปเป็นไฟล์ DWG สำหรับ AutoCAD มีการแสดงผลของเส้นเหมือนกับที่ปรากฏใน Revit Model